หลักการเลือกใช้งานตัวต้านทานชนิดต่างๆสำหรับรออกแบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์และเลือกตัวต้านทานใช้แทนในงานซ่อม ( Resistor Selection )


Resistor type  ตัวต้านทานชนิดต่างๆ

หลักการเลือกใช้งานตัวต้านทาน

การเลือกใช้ R  มีรายละเอียดหลายข้อที่ต้องพิจารณา  ให้เช็คหัวข้อต่างๆด้านล่างว่าวงจรที่กำลังออกแบบหรือซ่อมอยู่ต้องการ R ที่มีคุณสมบัติอย่างไร   ?  รวบรวมหลักการเลือกใช้งานตัวต้านทานในภาคปฏิบัติสำหรับการออกแบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์และหาตัวต้านทานใช้แทนตัวต้านทานเก่าที่ไหม้หรือตัวต้านทานที่เสีย  ในการออกแบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์จะเริ่มด้วยคำถามว่าใช้ตัวต้านทานชนิดไหนดี  ?  ส่วนงานซ่อมจะมีคำถามว่าตัวต้านทานตัวนี้ใช้แทนตัวต้านทานเก่าที่ไหม้ได้ไหม ?  เพื่อตอบคำถามนี้จะต้องใช้หัวข้อต่างๆเป็นเช็คลิสเพื่อเลือกชนิดตัวต้านทานที่เหมาะสมกับวงจร   เราทราบแล้วว่าตัวต้านทานมีหลายชนิดแต่ละชนิดมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันดังนั้นตัวต้านทาน 1 ชนิดจึงไม่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกวงจร   สิ่งที่จะกำหนดหรือเลือกชนิดของตัวต้านทานคือประเภทของวงจรว่าต้องการ R ที่มีคุณสมบัติเป็นอย่างไรวงจรจึงจะทำงานได้ดีและมีความเสถียร   รวมถึงการทำงานของวงจรมีความเชื่อถื่อได้ในระยะยาวตลอดอายุการใช้งานของอุปกรณ์นั้น  ตัวต้านทานที่มีค่าเสถียรเป็นคุณสมบัติที่วงจรต้องการเพราะมีผลต่อการทำงานที่เชื่อถือได้   ความเชื่อถื่อได้ของวงจรคือทดสอบให้วงจรทำงาน 100 ครั้ง 1000 ครั้งหรือจำนวนมากกว่านี้วงจรต้องทำงานได้ดีเหมือนเดิมและถ้าพิจารณาในระยะยาว  เช่น 2  ปี  3 ปี  5 ปี  10 ปี หรือนานกว่านั้นวงจรยังคงทำงานได้ปกติดีหรือไม่  ?   บางวงจรความผิดพลาดไม่สามารถให้เกิดขึ้นได้เนื่องจากมีความเสียหายตามมา  ถ้าวงจรทำงานผิดปกติจะเกิดผลเสียอะไรตามมา วงจรป้องกันมีการแจ้งเตือนหรือหยุดการทำงานของวงจรอย่างไรเพื่อความปลอดภัย   นอกจากคุณสมบัติของ R แล้วยังมีเรื่องของราคาเข้ามาเกี่ยวข้องในการเลือก R  เพราะปัจจุบันนี้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แข่งขันกันสูงและแข่งขันกันราคาถูก  จึงไม่สามารถเลือกชนิดตัวต้านทานที่ดีที่สุดมาใส่ในวงจรแต่เป็นการเลือกตัวต้านทานที่มีคุณสมบัติดีพอสำหรับวงจรและราคาต้องไม่แพงด้วย การผลิตวงจรในจำนวน 1000 ชุด หลักหมื่นชุดหรือจำนวนมากกว่านี้ ราคาต้นทุนของอุปกรณ์มีผลอย่างมากในการเลือกเพื่อให้สินค้าที่ผลิตขายได้และแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่นๆได้




ตัวต้านทาน Resistor



การวัดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ( ภาษาอังกฤษ )

Check electronic  devices  with  multimeter   (  English )

บทความภาษาอังกฤษ   อ่านที่ >    https://testmultimeter.com/



Read  here   >    https://testmultimeter.com/





ให้เช็คหัวข้อต่างๆต่อไปนี้ว่าวงจรที่ออกแบบหรือซ่อมอยู่ต้องการ R ที่มีคุณสมบัติอะไรบ้าง  ?

1)  สัญญาณรบกวน ( Noise )  วงจรที่ไวต่อสัญญาณรบกวนเช่น วงจรขยายที่มีอัตราขยายสูง  ( สัญญาณรบกวนจะถูกขยายไปด้วย) วงจรระบบสื่อสาร  วงจรขยายสัญญาณขนาดเล็ก  ( Low level signal)  เป็นต้น วงจรเหล่านี้ต้องใช้ R ที่มีสัญญาณรบกวนต่ำ  ตัวต้านทานที่กำเนิดสัญญาณรบกวนต่ำเรียงจากดีมากไปน้อยเรียงเป็นลำดับคือ  ตัวต้านทานชนิดไวร์วาวด์  ตัวต้านทานชนิด Metal Foil  และตัวต้านทานชนิด Thin  Film    ส่วนตัวต้านทานที่มีสัญญาณรบกวนสูงคือตัวต้านทานชนิดผงคาร์บอน  ตัวต้านทานชนิดคาร์บอนฟิล์ม และตัวต้านทานชนิด Thick Film รวมถึงตัวต้านทานชนิด Metal Oxide Film ก็มีสัญญาณรบกวนสูงกว่าชนิดเมตัลฟิล์ม การติดตั้งอุปกรณ์ก็มีผลต่อสัญญาณรบกวน ควรวางตำเหน่ง  R ให้ห่างจากแหล่งความร้อนเพื่อลดสัญญาณรบกวนชนิด Thermal  Noise เนื่องจากยิ่งอุณหภูมิเพิ่มขึ้น สัญญาณรบกวนชนิด Thermal  Noise จะสูงตามไปด้วย

2)  ความถี่และการตอบสนองความถี่  ตัวต้านทานในโลกแห่งความเป็นจริงจะไม่ใช่ตัวต้านทานที่มีเฉพาะความต้านทานล้วนๆ ( Pure Resistance )  แต่จะมีตัวเหนี่ยวนำแฝงและตัวเก็บประจุแฝงในตัว R ด้วย ยกตัวอย่างให้เห็นภาพตัวต้านทานชนิดไวร์วาวด์ส่วนขาที่เป็นเส้นลวดและขดลวดที่ขดจะก่อตัวเป็นตัวเหนี่ยวนำ และตัวนำ 2 ตัวหรือมากกว่าที่วางไว้ใกล้กันจะก่อตัวเป็นตัวเก็บประจุ   วงจรไฟ DC จะไม่ได้รับผลกระทบแต่วงจรความถี่สูงและวงจรสัญญาณพัลส์จะได้รับผลกระทบ ทำให้รูปคลื่นเพี้ยน เกิดการหน่วงของสัญญาณและเกิดการสูญเสียที่ความถี่สูงตามสมการ  XL =  2πFL ยิ่งความถี่สูงยิ่งเกิดการสูญเสีย   ตัวต้านทานชนิดเมตัลฟิล์มสามารถใช้กับความถี่สูงได้ถึง   100MHz  ขณะที่ตัวต้านทานชนิดคาร์บอนฟิล์ม ตัวต้านทานชนิดไวร์วาวด์มาตรฐาน และตัวต้านทานชนิด Foil ใช้งานกับความถี่สูงไม่ได้เนื่งจากมี   Equivalent series Inductance (ESL) มีค่าสูงระดับ uH   ส่วนตัวต้านทานชนิด Metal Oxide มีค่าระดับ nH และชนิดเมตัลฟิล์มมีค่าน้อยกว่า 2nH ซึ่งชนิดเมตัลฟิล์มนี้ใช้กับความถี่สูงได้ 100MhZ    ตัวต้านทานไวร์วาวด์มาตรฐานใช้กับความถี่ได้สูงสุดแค่ประมาณ  50KHZ ถ้าต้องการใช้งานที่ความถี่สูงกว่านี้ต้องใช้ตัวต้านทานไวร์วาวด์ชนิด NON-Inductive และ Low  Reactance  ซึ่งจะใช้เทคนิคการผลิต /พันเส้นลวดเพื่อให้มีค่า ESL และค่าตัวเก็บประจุแฝง ( Parasitic Capacitance : Cp) ต่ำ  วงจรความถี่สูงและวงจร High speed / Response Time  ต้องพิจารณาเลือกใช้ R ที่สูญเสียน้อยที่สุดและตอบสนองรูปคลื่นสัญญาณไม่เพี้ยน

3)  แรงดัน  ในวงจรอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่จะใช้ไฟมาตรฐาน 5VDC  9VDC  12VDC  24VDC ค่าทนแรงดันไฟฟ้าจึงไม่ได้พิจารณามากนักเนื่องจากแรงดันในวงจรยังห่างมากจากแรงดันที่ R ทนได้  ส่วนใหญ่ในวงจรอิเล็กทรอนิกส์จะพิจารณาค่าความต้านทานและกำลังไฟฟ้าหรือวัตต์ของ R  เป็นหลัก  กรณีเป็นไฟ AC วงจร Line Protection และแรงดันไฟสูงต้องพิจารณาแรงดันไฟฟ้าด้วยเนื่องจากตัวต้านทานมีค่าแรงดันสูงสุดที่ทนได้ เช่น  ค่า Max. working Voltage , ค่า Max. Overload Volage  และค่า  Dielectric withstand Voltage  ยกตัวอย่างค่าแรงดัน Max. working Voltage  ของตัวต้านทานชนิดเมตัลฟิล์ม  ขนาด 0.25W =  200V  ,  0.5W = 250V  , 1W = 500V  เป็นต้น
จะสังเกตว่าขนาดของ R  และแรงดันไฟฟ้าที่ทนได้จะมีความสัมพันธ์กัน ( ทำนองเดียวกันกับค่าวัตต์ R ตัวใหญ่วัตต์จะสูง)  วงจรส่วนที่เป็นไฟ AC ต้องพิจารณาค่าแรงดันไฟฟ้าที่ R ทนได้ด้วยเพื่อให้อายุการใช้งานของ R ยาวนาน  จากเอกสารของผู้ผลิตตัวต้านทานพบว่าค่าแรงดันต่างๆของ R แต่ละชนิดจะมีค่าไม่เท่ากัน ตัวต้านทานชนิดเมตัลฟิล์มและคาร์บอนฟิล์มมีค่าแรงดันทีทนได้ไม่ต่างกันมากนัก ค่าแรงดันเหล่านี้เช็คได้จาก Datasheet ของ R    ปกติแล้วตัวต้านทานชนิดทนความร้อน ( Metal oxide Film )และตัวต้านทานชนิดไวร์วาวด์จะมีค่าพิกัดทนแรงดันถึง ระดับ  KV  และตัวต้านทานชนิด Thick Film ทนแรงดัน AC ได้ดีจึงนิยมใช้กับวงจรที่เป็นไฟ AC  ส่วนตัวต้านทานชนิด Thin Film ไม่เหมาะกับวงจรไฟ AC 


        เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น พิกัดกำลังไฟฟ้าจะลดลง 


4)  กำลังไฟฟ้าหรือวัตต์   วัตต์ของตัวต้านทานที่ระบุไว้เช่น ค่า 1W มีความหมายว่าที่อุณหภูมิทดสอบ 25 °C  ตัวต้านทานนั้นจะมีค่า 1W
เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นค่าวัตต์นี้จะลดลง  ที่อุณหภูมิประมาณ 70 °C   ค่าวัตต์จะเริ่มลดลง และที่ 100 °C   ค่าวัตต์นี้จะลดลงมากเหลือแค่ประมาณ 0.6 วัตต์   หลักในการเลือกกำลังไฟฟ้าหรือวัตต์ของ R คือเลือกให้สูงกว่าค่าที่คำนวณได้เพื่อยืดอายุการใช้งานของ R  เช่นค่า 1W จะใช้งานจริงแค่ 60-70 %   หรือ  0.6W-0.7W   ห้ามใช้ค่าเกิน 80% เพราะทำให้อายุใช้งานของ R สั้นหรือเสียเร็ว อันเนื่องจากอิทธิพลของอุณหภูมิและแรงดัน ( Voltage Stress ) อธิบายเพิ่มเติม ตามคำนวณต้องใช้ R  1 วัตต์ในการเลือกใช้จริงให้ใช้ค่า 1.5W หรือ  2W   ( 1.5W x 60% = 0.9W )
ใน Datasheet ของ R จะใช้คำว่า Power Derating แปลว่าการลดพิกัดกำลังไฟฟ้าเมื่ออุณภูมิสูงขึ้น 

5)  ค่าความต้านทาน   หาได้จากการคำนวณตามกฏของโอห์ม  R = V/I  อย่าลืมว่าค่าความต้านทานสูงๆจะกำเนิดสัญญาณรบกวนมากกว่าค่าความต้านทานต่ำ ให้พิจารณความเสถียรของค่าความต้านทานนี้ด้วยว่าใน 1 ปี   3  ปี  5 ปี 10 ปี  ค่า R จะเปลี่ยนไปจากค่าเดิมมากแค่ไหนและการเปลี่ยนแปลงความต้านทานนี้ทำให้วงจรทำงานผิดปกติหรือไม่ วงจรที่เน้นความความน่าเชื่อถือสูงและความผิดพลาดยอมรับไม่ได้ ต้องเลือก R ชนิดที่มีค่าเสถียรในระยะยาว  เช่น ตัวต้านทานชนิดเมตัลฟิล์มเที่ยงตรงสูง ( Precision metal Film resistor)   ,  ตัวต้านทานไวร์วาวด์เที่ยงตรงสูง  (มีค่าคลาดเคลื่อนน้อยระดับ  0.1%  0.25%  0.5% )   เป็นต้น

ุ6)  % คลาดเคลื่อน  ค่า % คลาดเคลื่อนของ R มีหลายระดับ  ±0.1%   ±0.25%   ±0.5%  ±1%   ±5%  ±10% และ  ±20%  วงจรที่เน้นค่าไฟต้องนิ่งและตรง  เช่น  วงจร Feedback  วงจรป้องกัน  วงจรเครื่องมือวัด  วงจรกำหนดเวลาและความถี่  เป็นต้นต้องใช้   0.1%  0.25%  0.5%  1% คนออกแบบวงจรเป็นคนเลือกระดับคลาดเคลื่อนที่ยอมรับได้ว่าไม่เกินกี่ % 

7)  อุณหภูมิ  อุณหภูมิทำให้ค่าความต้านทานเปลี่ยนไป  ค่า R จะเปลี่ยนไปมากแค่ไหนขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุที่ใช้ทำ R   ความสัมพันธ์ระหว่างค่าความต้านทานที่เปลี่ยนไปเมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนไปนิยมระบุเป็น ppm / °C   โดย ppm  =  part per million  ค่านี้มีผลต่อความเสถียรของวงจรในระยะยาว ต้องพิจารณาตลอดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ว่าอุณหภูมิทำให้ค่า R เปลี่ยนไปมากแค่ไหนและค่าเท่าไหร่ที่ยอมรับได้  ค่า ppm /  °C  นี้ยิ่งน้อยยิ่งดี  เช่น   ±10ppm/°C   ±15ppm/°C  ±50ppm/°C   ±100ppm/°C  ±200ppm/°C  ±300ppm/°C   ±350ppm/°C  เป็นต้น   เมื่อกระแสไหลผ่านตัวต้านทานจะเกิดความสูญเสียและเกิดความร้อนที่ตัวต้านทาน อุณหภูมิที่แวดล้อมตัวต้านทานมีผลต่อการระบายถ่ายเทความร้อนของ R   อีกประเด็นเรื่องอุณหภูมิที่เกี่ยวข้องกับ R  คือค่าอุณหภูมิสูงสุดที่ R ทนได้ การใช้งานต้องไม่เกินค่าสูงสุดนี้ ตัวต้านทานชนิดไวร์วาวด์และตัวต้านทานชนิด Metal Oxide จะทนความร้อนได้สูงประมาณ  350-450°C ( ขนาดเล็ก 155  °C   )  ตัวต้านทานชนิดเมตัลฟิล์มประมาณ   230°C-300°C หรือบางผู้ผลิต 125°C หรือ 155°C ขึ้นอยู่กับผู้ผลิต  ตัวต้านทานชนิดคาร์บอนฟิล์มประมาณ  155°C    วงจรที่มีความร้อนจะใช้ตัวต้านทานชนิดไวร์วาวด์และตัวต้านทานชนิด Metal Oxide   ตัวต้านทานชนิด Metal Oxide ( นิยมเรียกในตลาดว่าตัวต้านทานทนความร้อน) ซึ่งนิยมใช้งานแทนตัวต้านทานชนิดไวร์วาวด์เนื่องจากเมื่อเทียบราคาต่อวัตต์แล้วมีราคาถูกกว่าเนื่องจากกระบวนการผลิตเป็นแบบฟิล์มซึ่งง่ายกว่าการผลิตแบบไวร์วาวด์

8)  สภาพแวดล้อมของวงจร     อุณหภูมิ ความชื้นและพื้นที่ครอบปิดมีผลต่อการระบายความร้อน สิ่งเหล่านี้ต้องนำมาพิจารณาเพราะมีผลต่อการทำงานของ R  ตัวต้านทานชนิดผงคาร์บอนจะไวต่อความชื้นคือมันดูดซับความซื้น  ตัวต้านทานหลายชนิดหุ้มปิดอย่างดีเพื่อป้องกันชิ้นส่วนด้านในที่เป็นวัสดุกำหนดความต้านทาน  ต้องพิจารณาว่าสภาพแวดล้อมการใช้งานอะไรที่มีผลต่อค่า R มาก จากนั้นหาทางป้องกันไว้ก่อนตั้งแต่ออกแบบวงจร 

9)  เหมาะกับวงจรพัลซ์หรือไม่  ?  กรณีใช้ R กับไฟ รูปคลื่นพัลซ์  ( Repetive Pulse) การคำนวณปริมาณพลังงานความร้อนและกำลังไฟฟ้าต้องได้รับการคำนวณเพื่อให้ไม่เกินค่าที่ R ทนได้ พลังงานจากวงจรพัลซ์จะมากกว่าพลังงานของวงจรทั่วไป    ปกติแล้วตัวต้านทานชนิดผงคาร์บอนและคาร์บอนฟิล์มจะทนพลังงานรูปคลื่นพัลซ์ได้ดีกว่าตัวต้านทานชนิดเมตัลฟิล์ม และตัวต้านทานชนิดไวร์วาวด์และ Metal Oxide ( ตัวต้านทานทนความร้อน)  ทนพลังงานพัลซ์ได้ดีจึงนิยมใช้กับพัลซ์  ต้องพิจารณาลักษณะกระแสและแรงดันว่าเป็นพัลซ์หรือไม่ ? เลือก R ที่มีคุณสมบัติเหมาะกับวงจรพัลซ์ปกติจะระบุคุณสมบัติของ R ไว้ใน Datasheet ว่าเหมาะกับพัลซ์

10 ) ข้อกำหนดอื่นๆตามมาตรฐานกำหนดไว้ หรือคนใช้งานต้องการเป็นพิเศษ  หลังจากพิจารณาตามหลักการเลือกตัวต้านทานทั่วไปแล้ว บางครั้งยังมีข้อกำหนดอื่นๆเพิ่ม   เช่น  ตัวต้านทานเมื่อร้อนสุดๆต้องไม่ลุกเป็นเปลวไฟหรือลามไฟ  ( ปกติคุณบัตินี้ระบุไว้ใน Datasheet )   ความแข็งแรงทางกลของ R   หลักการเกี่ยวกับความปลอดภัย Fail  Safe เมื่อวงจรทำงานผิดปกติต้องไม่มีอันตรายใดๆต่ออุปกรณ์และคนใช้งาน    หลักการเกียวกับ EMI การก่อสัญญาณรบกวนและการทนสัญญาณรบกวน   ทน   ESD ได้    เป็นต้น




เรียนรู้เบอร์อะไหล่   เพื่อสังเกตว่าเบอร์ขึ้นต้นแบบนี้เป็นอุปกรณ์ชนิดอะไร  ?  
โดยจัดเป็นหมวดหมู่  แบ่งเป็นหมวดหมู่  เช่น  ไดโอด  มี 17  เรื่องให้อ่าน เป็นต้น

เลือก   ดูรายการต่อไปนี้

ไดโอด (17)